วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554


การปลูกข้าวโพดหวาน (SWEET CORN)


ข้าวโพดหวาน อยู่ใน ตระกูล Gramineae ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับหญ้าหรือข้าว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zeamays Line var. rugasa หรือ saccharata ข้าวโพดหวานมีคุณประโยชน์มากมาย นอกจากจะใช้รับประทานเป็นผักสดแล้ว ยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลาย รูปแบบ เช่น ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องทั้งฝัก หรือบรรจุกระป๋องเฉพาะเมล็ด ทำครีมข้าวโพดหวาน ข้าวโพดแช่แข็ง ซึ่งผลิตภัณฑ์ ต่างๆ เหล่านี้ สามารถส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และกลุ่มประเทศในแถบยุโรป

ฤดูปลูก

ข้าวโพดหวานสามารถ ปลูกได้ตลอดปี แต่นิยมปลูกกันมากในช่วงฤดูฝน และสามารถปลูกได้ดีในดินทุกสภาพ แต่จะขึ้นได้ดีในสภาพดินร่วนปนทราย จะทำให้ผลผลิตดีและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 6.0-6.5 ข้าวโพดหวานต้องการแสงแดด เต็มที่ตลอดวัน

อุณหภูมิที่เหมาะสม

อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดหวาน เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดจะอยู่ในช่วง 24-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางคืน อยู่ในช่วง 15-18 องศาเซลเซียส จะทำให้ข้าวโพดหวานมีคุณภาพดีและมีความหวานสูง

การเตรียมแปลงปลูก

การปลูกข้าวโพดหวานจะแตกต่างจากการปลูกข้าวโพดไร่ เพราะข้าวโพดหวานต้องดูแล และปฏิบัติอย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับการ ปลูกพืชผัก จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ดังนั้นในการเตรียมดินและการปลูกต้องการทำอย่างประณีต โดยการไถดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร แล้วตากทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อกำจัดไข่แมลงและเมล็ดวัชพืช หากมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือหว่านปูนขาวเพื่อปรับ สภาพดินควรใส่ในช่วงนี้ แล้วจึงไถพรวนอีกครั้ง จากนั้นวัดระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับ พื้นที่ ทำการขุดเป็นร่องลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ถ้าหากสภาพดินแห้งไม่มีความชื้น ควรปล่อยน้ำเข้าตามร่อง หรือทำให้ดิน มีความชื้นบริเวณ

การปลูกข้าวโพดหวาน

ทำการเจาะหลุมปลูกบริเวณข้างๆ ร่อง ใช้ระยะห่างระหว่างหลุม(ต้น) ประมาณ 25-35 เซนติเมตร นำเมล็ดข้าวโพดหวานหยอดลงไป หลุมละ 1-2 เมล็ด ในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม หลังหยอดเมล็ดแล้วไม่ควรปล่อยดินแห้งเกินไป ควรให้ดินมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้น้ำมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวโพดเน่าได้ หลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ 5-7 วัน ข้าวโพดก็จะเริ่มงอก ให้สังเกตุดูว่าถ้าหลุมที่ไม่งอกให้รีบปลูกซ่อมทันที

การปฏิบัติดูแลรักษาข้าวโพดหวาน

- การถอนแยกต้น ควรกระทำหลังจากหยอดเมล็ด 12-14 วัน โดยการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น
- การให้ปุ๋ย
ครั้งที่ 1 หลังจากหยอดเมล็ดประมาณ 14-10 วัน โดยการใส่ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1:1 (ประมาณ 50 ก.ก./ไร่) โดยหว่านที่ร่องน้ำข้างๆ ต้น แล้วกลบโคนต้น
ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดหวานเริ่มติดฝักอ่อนโดยการใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 หรือ 13-13-21 อัตราประมาณ 50 ก.ก./ไร่ โดยหว่าน ที่ร่องพื้นแล้วกลบโคนต้น
- การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้ขาดน้ำ โดยปล่อยเข้าตามร่องน้ำหรือให้แบบสปริงเกอร์
- การกำจัดวัชพืช กระทำพร้อมๆ กับการกลบโคนต้นและการให้ปุ๋ย
- การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง การปลูกข้าวโพดหวานต้องระวังในเรื่องของหนอนเจาะฝัก หรือเจาะลำต้น ควรฉีดพ่น ยาพวกคาร์บาริล หรือยาพวกถูกตัวตาย เช่น เมทโธมิล

การเก็บเกี่ยวและการรักษา

การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ข้าวโพดหวานมคุณภาพดีหรือเลว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหวานเพื่อส่ง โรงงานหรือจำหน่ายฝัก ควรเลือกเก็บเกี่ยวในระยะที่มีน้ำตางสูงที่สุด และคุณภาพดีที่สุด หรือระยะที่เรียกว่า ระยะน้ำนม(Milk Stage) หากเลยระยะนี้ไปแล้วปริมาณน้ำตาลจะลดลงและมีแป้งเพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวานมีหลักพิจารณาง่ายๆ คือ
1.             นับอายุ หลังจากวันหยอดเมล็ด วิธีการนี้ต้องทราบอายุของข้าวโพดหวานแต่ละพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์หนัก, เบา หรือปานกลาง เช่นพันธุ์เบา อายุ 55-65 วัน พันธุ์ปานกลาง 70-85 วัน และพันธุ์หนักตั้งแต่ 90 วันขึ้นไป
2.             เก็บสุ่มตัวอย่างในแปลงมาตรวจดู วิธีนี้แน่นอน และนิยมกระทำกันมากที่สุด การเก็บเกี่ยวข้าวโพดหวาน ควรเก็บเกี่ยวในเวลา เช้าตรู่และรีบส่งตลาดทันที ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้น้ำตาลลดลง

เมล็ดข้าวโพดจัดเป็นพวกไม่มีระยะการฟัดตัว (seed dormancy) เมื่อเมล็ดแก่เก็บเกี่ยวแล้ว สามารถนำไปปลูกได้เลย เมื่อเมล็ดแก่เก็บเกี่ยวแล้ว สามารถนำไปปลูกได้เลย เมื่อฝังเมล็ดลงไปในดิน เมล็ดจะงอกโผล่พ้นผิวดิน และใบแรกคลี่ออกให้เห็นภายในประมาณ ๔-๖ วัน (ระยะที่ ๑-๒ ในภาพ) หลังจากผสมเกสร
ชนิดของข้าวโพด
ข้าวโพดอาจจำแนกออกได้เป็น ๒ แบบ คือ
๑. การจำแนกทางพฤกษศาสตร์ การจำแนกแบบนี้ถือเอาลักษณะของแป้งและเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นหลัก จำแนกออกเป็น ๗ ชนิด คือ
(๑) ข้าวโพดหัวบุบ (dent corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อินเดนทาทา (Zea mays indentata) เมล็ดตอนบนมีรอยบุ๋ม เนื่องจากตอนบนมีแป้งอ่อนและตอนข้าง ๆ เป็นแป้งชนิดแข็ง เมื่อตากเมล็ดให้แห้งแป้งอ่อนจะยุบหดตัวลง จึงเกิดลักษณะหัวบุบดังกล่าว ขนาดของลำต้น ความสูง เหมือนข้าวไร่ทั่ว ๆ ไป สีของเมล็ดอาจเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีอื่น ๆ แล้วแต่พันธุ์ นิยมปลูกกันมากในสหรัฐอเมริกา
(๒) ข้าวโพดหัวแข็ง (flint corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมยส์ อินดูราทา (Zea mays in durata) เมล็ดมีแป้งแข็งห่อหุ้มโดยรอบ หัวเรียบไม่บุบเมล็ดค่อนข้างกลม มีปลูกกันมากในเอเชียและอเมริกาใต้ ข้าวโพดไร่ของคนไทยมีนิยมปลูกกัยอยู่เป็นชนิดนี้ทั้งสิ้นสีของเมล็ดอาจเป็นสีขาว สีเหลือง สีม่วง หรือสีอื่นแล้วแต่ชนิดของพันธุ์
(๓) ข้าวโพดหวาน (sweet corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส แซคคาราทา (Zea mays saccharata) นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพื่อรับประทานฝักสด เพราะฝักมีน้ำตาลมาก ทำให้มีรสหวาน เมื่อแก่เต็มที่หรือแห้งเมล็ดจะหดตัวเหี่ยวย่น (รายละเอียดอ่านเรื่องข้าวโพดหวานและข้าวโพดฝักอ่อน)
(๔) ข้าวโพดคั่ว (pop corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อีเวอร์ทา (Zea mays everta) เมล็ดมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีแป้งประเภทแข็งอยู่ใน ภายนอกห่อหุ้มด้วยเยื่อที่เหนียวและยืดตัวได้ เมล็ดมีความชื้นภายในอยู่พอสมควร เมื่อถูกความร้อนจะเกิดแรงดันภายในเมล็ดระเบิดตัวออกมา เมล็ดอาจมีลักษณะกลมหรือหัวแหลมก็ได้ มีสีต่าง ๆ กัน เช่น เหลือง ขาว ม่วง
(๕) ข้าวโพดข้าวเหนียว (waxy corn) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส เซอราทินา (Zea maysceratina) เมล็ดมีแป้งอ่อนคล้ายแป้งมันสำปะหลังนิยมปลูกเพื่อรับประทานฝักสดคล้ายข้าวโพดหวานแม้จะไม่หวานมาก แต่เมล็ดนิ่ม รสอร่อย ไม่ติดฟัน เมล็ดมีสีต่าง ๆ กัน เหลือง ขาว ส้ม ม่วง หรือมีหลายสีในฝักเดียวกัน
(๖) ข้าวโพดแป้ง (flour corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส อะมิโลเซีย (Zea mays amylocea) เมล็ดประกอบด้วยแป้งชนิดอ่อนมาก เมล็ดค่อนข้างกามหัวไม่บุบ หรือบุบเล็กน้อย นิยมปลูกในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และสหรัฐอเมริกา ชาวอินเดียนแดงนิยมปลูกไว้รับประทานเป็นอาหาร
(๗) ข้าวโพดป่า (pod corn) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ซี เมย์ส ทูนิกา (Zea mays tunica) มีลักษณะใกล้เคียงข้าวโพดพันธุ์ป่า มีลำต้น และฝักเล็กกว่าข้าวโพดธรรมดา ขนาดเมล็ดค่อนข้างเล็กเท่า ๆ กับเมล็ดข้าวโพดมีขั้วเปลือกหุ้มทุกเมล็ด และยังมีเปลือกหุ้มฝักอีกชั้นหนึ่งเหมือนข้าวโพดธรรมดาทั่ว ๆ ไป เมล็ดมีลักษณะต่าง ๆ กัน (ดูรูปข้าวโพดพันธุ์ป่าใน หน้า ๖๔a) ข้าวโพดชนิดนี้ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปลูกไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น
๒.การจำแนกตามวัตถุประสงค์ของการปลูก อาจจำแนกออกได้เป็น ๔ ชนิด คือ
(๑) ข้าวโพดใช้เมล็ด (grain corn) ปลูกเพื่อเก็บเมล็ดแก่ใช้เป็นอาหารสัตว์และมนุษย์ หรือทำอุตสาหกรรมอย่างอื่น
(๒) ข้าวโพดหมัก (silage corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดมาหมักใช้เป็นอาหารสัตว์
(๓) ข้าวโพดอาหารสัตว์ (fodder corn) ปลูกเพื่อตัดต้นสดไปใช้เลี้ยงสัตว์
(๔) ข้าวโพดฝักอ่อน (baby corn) ในประเทศไทยนิยมปลูกเพื่อเก็บฝักอ่อนไปใช้ในการปรุงอาหาร (รายละเอียดอ่านเรื่องข้าวโพดฝักอ่อน)
พันธุ์ข้าวโพดที่ปลูกเพื่อวัตถุประสงค์แต่ละอย่างมีลักษณะไม่เหมือนกัน พวกปลูกเพื่อใช้เมล็ดต้องใช้พันธุ์ที่มีผลิตผลของเมล็ดสูง แต่พวกที่ปลูกเพื่อตัดต้นสดไปหมัก หรือให้สัตว์กินโดยตรง มักจะใช้พันธุ์ที่มีลำต้นสูงหรือพันธุ์ที่มีการแตกกอมาก เพื่อจะได้ปริมาณต้นและใบมาก ส่วนข้าวโพดฝักอ่อนนั้น นิยมใช้พันธุ์ที่มีหลายฝักต่อต้น เช่น ข้าวโพดหวาน

พันธุ์ข้าวโพด
ข้าวโพดที่นิยมปลูกกันอยู่ทั่ว ๆ ไป อาจจำแนกพันธุ์ได้เป็น ๒ พวกใหญ่ ๆ คือ
๑. พันธุ์ลูกผสม (hybrids) นิยมปลูกในประเทศที่วิทยาการทางการเกษตรเจริญมากแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากข้าวโพดพวกนี้มีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ดี หรือเปลี่ยนแปรไปตามสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเพียงพอ ไม่กำจัดวัชพืช มีน้ำไม่พอ ข้าวโพดพวกนี้จะให้ผลิตผลไม่ดี นอกจากนั้น การใช้ข้าวโพดลูกผสมจะต้องซื้อเมล็ดใหม่มาปลูกทุกปี เพราะถ้าใช้เมล็ดเก่าเก็บจากไร่จะกลายพันธุ์ไป
๒. พันธุ์ผสมปล่อย (open-pollinated variety) พันธุ์ข้าวโพดชนิดนี้ หากได้รับการปรับปรุงพันธุ์อย่างดี อาจให้ผลิตผลได้ไม่แพ้พันธุ์ลูกผสม นอกจากนั้นพันธุ์พวกนี้ยังปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง แม้ดินฟ้าอากาศจะเปลี่ยนแปรไป ก็ยังให้ผลิตผลพอใช้ได้ นอกจากนั้น ชาวไร่ยังสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ต่อไปได้อีกอย่างน้อย ๒-๓ ปี หรือถ้ารู้จักคัดเลือกพันธุ์เอง อาจไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่อีกก็ได้ พันธุ์ข้าวโพดพวกนี้ อาจแยกได้เป็น ๒ ชนิด คือ
(๑) พันผสมรวม (composite) เป็นการรวมพันธุ์หรือสายพันธุ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน วิธีรวมง่าย ๆ ก็โดยเอาเมล็ดจำนวนเท่า ๆ กัน จากแต่ละพันธุ์หรือสายพันธุ์มารวมกันเข้า แล้วนำไปปลูกในแปลงอิสระห่างไกลจากข้าวโพดพันธุ์อื่น ๆ ปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติแล้วเก็บเกี่ยวเมล็ดไว้ปลูกเป็นพันธุ์ต่อไป
(๒) พันธุ์สังเคราะห์ (synthetics) เป็นพันธุ์ที่ได้จากการรวมสายพันธุ์ที่ได้รับการทดสอบการรวมตัว (combining abillity) มาแล้ว วิธีการรวมสายพันธุ์อาจทำได้เช่นเดียวกับพันธุ์ผสมรวม

การปลูกข้าวโพด
๑. ฤดูปลูก
ข้าวโพดเป็นพืชไร่ที่ค่อนข้างทนทานปลูกง่ายในสภาพดินฟ้าอากาศของเมืองไทย ถ้ามีน้ำเพียงพอจะสามารถปลูกข้าวโพดได้ตลอดปี การปลูกส่วนใหญ่อาศัยน้ำจากน้ำฝนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ดังนั้นฤดูปลูกข้าวโพดที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำฝนและการกระจายตัวของฝนในแต่ละเดือนนั่นเอง ปกติเฉลี่ยโดยทั่ว ๆ ไป ฝนจะเริ่มตกมากตั้งแต่เดือนมีนาคม พฤศจิกายน และระหว่างสิงหาคม-กันยายน เป็นช่วงที่ฝนตกชุกที่สุด พันธุ์ข้าวโพดที่นิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบันมีอายุปานกลาง คือ ประมาณ ๑๑๐-๑๒๐ วัน ดังนั้น จึงอาจเลือกปลูกข้าวโพดได้ตามความเหมาะสมถ้าปีใดมีฝนตกสม่ำเสมอแต่ต้นปี อาจปลูกข้าวโพดได้ ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกปลูกในระหว่างเดือนกรกฎาคม กลางเดือนสิงหาคม พวกที่ปลูกต้นฤดูฝนโดยทั่ว ๆ ไป มักได้ผลิตผลสูงกว่าพวกที่ปลูกปลายฤดูฝน ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณน้ำฝนกำลังพอเหมาะและโรคแมลงรบกวนน้อย แต่มีข้อยุ่งยากในการเก็บเกี่ยว ไม่สะดวกแก่การตากข้าวโพด เนื่องจากฝนตกชุก
๒. การเลือกและการเตรียมที่ปลูก
ที่ดินที่เหมาะในการปลูกข้าวโพดควรเป็นที่ดอนมีการระบายน้ำได้ดี ถ้าเป็นที่ลุ่มควรยกร่องระบายน้ำอย่าให้น้ำขัง ข้าวโพดขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ของดินและปริมาณแร่ธาตุอาหารพืชสูงพอสมควร ดินมีความเป็นกรดเป็นด่างปานกลาง (pH ประมาณ ๕.๕-๘.๐) หรือค่อนข้างเป็นด่างเล็กน้อย นอกจากนี้ ข้าวโพดยังเป็นพืชที่ปลูกได้ดีบนพื้นที่ลาดเอียงหรือสูง ๆ ต่ำ ๆ อีกด้วย
ก่อนปลูกข้าวโพดต้องมีการเตรียมดิน เพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดี มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนั้นการเตรียมดินยังทำให้ดินเก็บความชื้นได้ดีอีกด้วย
การเตรียมดินครั้งแรก ควรเริ่มทันทีหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยการไถกลบต้นตอซังของข้าวโพด ให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยในดินต่อไป การเตรียมดินจะต้องทำอีกครั้งหนึ่ง ตอนใกล้จะปลูกข้าวโพดในฤดูต่อไป การไถ ควรทำหลังจากฝนตกแล้วประมาณ ๑-๒ ครั้ง ควรไถดะและไถแปรงอย่างละ ๑ ครั้ง และไถลึกประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ไม่ควรเตรียมดินในขณะที่ดินเปียกเกินไป จะทำให้ดินเกิดการอัดตัว ไม่เหมาะแก่การแผ่กระจายของรากข้าวโพด ในที่ลาดเอียงมากควรไถครั้งสุดท้ายตามขวางกับแนวลาดเอียง เพื่อป้องกันการชะล้างพื้นผิวดิน
เครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมดินมีหลายชนิด เช่น ไถพื้นเมืองที่ใช้ลากด้วยแรงสัตว์ และแทรกเตอร์ไถที่เดินด้วยเครื่องยนต์ ปัจจุบันนิยมใช้แทรกเตอร์กันแพร่หลาย เพราะสะดวกและรวดเร็ว ไถได้ลึกและกลบส่วนต่าง ๆ ของพืชได้ดีกว่าไถลากด้วยแรงสัตว์ อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่จะใช้แทรกเตอร์นั้น ต้องถางและปรับที่ให้มีตอน้อยที่สุด จึงจะไถได้สะดวก
๓. วิธีปลูก
การปลูกข้าวโพดควรปลูกเป็นแถว ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การปฏิบัติรักษา เช่น การไถพรวน ระยะระหว่างแถวประมาณ ๓๕-๑๐๐ เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุมประมาณ ๒๕ เซนติเมตร หยอดเมล็ดข้าวโพดลงไปในหลุมซึ่งลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร จำนวน ๒-๓ เมล็ด เพื่อกันเมล็ดไม่งอก เมื่องอกแล้วควรถอนให้เหลือหลุมละต้น ถ้าปลูกโดยวิธีนี้จะได้จำนวนต้นข้าวโพดประมาณ ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ ต้น/ไร่ อย่างไรก็ตามระยะระหว่างหลุมอาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจเป็น ๕๐ เซนติเมตรก็ได้ โดยเพิ่มเป็น ๒ ต้น/หลุม ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ชาวไร่ไม่นิยมการถอนแยก เพราะสิ้นเปลืองแรงงานค่าใช้จ่ายมาก เวลาปลูกจึงหยอด ๒-๓ เมล็ด ลงไปในหลุม และไม่ถอนแยกเลยตลอดฤดูการปลูก
การจะปลูกถี่หรือห่างเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ถ้าเป็นที่ดินป่าเปิดใหม่มีอินทรียวัตถุสูง ควรปลูกให้ถี่ขึ้น อาจปลูกได้ถึงไร่ละ ๑๒,๐๐๐ ต้น ดังนั้น อัตราปลูกหรือระยะปลูกจึงต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่เฉพาะแห่ง
วิธีการหยอดเมล็ดอาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ไม้สักให้เป็นหลุมแล้วหยอดเมล็ดตาม ใช้จอบขุดแล้วหยอดเมล็ดตามรอยขุด หรือใช้เครื่องมือทุ่นแรงก่อนปลูกควรทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์เสียก่อน ถ้าอัตราความงอกต่ำ ควรหยอดเมล็ดเผื่อไว้ให้เพียงพอ เช่น ถ้าความงอกมีเพียงร้อยละ ๘๐ จะปลูกหลุมละ ๒ ต้น ก็ควรหยอดไว้หลุมละ ๓-๔ เมล็ด



ข้าวโพด
ข้าวโพด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Zea mays Linn.) ชื่ออื่นๆ ข้าวสาลี สาลี (เหนือ) คง (กระบี่) โพด (ใต้) บือเคเส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้ามีลำต้นสูง โดยเฉลี่ย 2.2 เมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.5-2.0 นิ้ว เมล็ดจากฝักใช้เป็นอาหารคนและสัตว์

 

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

ข้าวโพดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นตั้งตรงแข็งแรง เนื้อภายในฟ่ามคล้ายฟองน้ำสูงประมาณ 1.4 เมตร ใบ จะเป็นเส้นตรงปลายแหลม ยาวประมาณ 30-100 ซม. เส้นกลางของใบจะเห็นได้ชัด ตรงขอบใบมีขนอ่อนๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้อยู่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกตัวเมียอยู่ต่ำลงมาอยู่ระหว่างกาบของใบ และลำต้นฝักเกิดจากดอกตัวเมียที่เจริญเติบโตแล้ว ฝักอ่อนจะมีสีเขียว พอแก่เป็นสีนวล

 

ถิ่นกำเนิด

มีการขุดพบซังข้าวโพดและซากของต้นข้าวโพดที่ใกล้แม่น้ำในนิวเม็กซิโก (แถบอเมริกาใต้) และปัจจุบันนิยมปลูกแพร่หลายในแถบอเมริกา แคนาดา สามารถปลูกได้ในสภาพที่ภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ เพราะสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ทั้งต้น ใบ และเมล็ด

 

การนำเข้ามาในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย คนไทยรู้จักนำข้าวโพดมาเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำข้าวโพดพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นยังเป็นที่รู้จักกันน้อย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเริ่มแพร่หลายขึ้นเนื่องจาก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาเริ่มสาธิต และกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามผู้เลี้ยงไก่จึงรู้จักใช้ข้าวโพดมากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากระยะนั้นข้าวโพดมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงใช้เป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์รู้จักข้าวโพดกันทั่วไป และในปัจจุบันประเทศไทยได้ปลูกข้าวโพดในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก

 

ชนิดของข้าวโพด

โดยทั่วไปข้าวโพดจัดออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
1.          ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ (Field Corn) ที่รู้จักในปัจจุบันเช่นข้าวโพดหัวบุ๋ม (Dent Coorn) และข้าวโพดหัวแข็ง (Fint Corn) ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะเมล็ดข้าวโพดหัวบุ๋มหรือหัวบุบ ข้าวโพดชนิดนี้เมื่อเมล็ดแห้งแล้วตรงส่วนหัวบนสุดจะมีรอยบุ๋มลงไป ซึ่งเป็นส่วนของแป้งสีขาว ข้าวโพดชนิดนี้สำคัญมากและนิยมปลูกกันมากใน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะทางแถบคอร์นเบลท์ สีของเมล็ดมีตั้งแต่ขาวไปจนถึงเหลือง เนื่องจากมีหลายสายพันธุมีโปรตีนน้อยกว่าพวกข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดหัวแข็ง ข้าวโพดพันธุ์นี้ส่วนขนสุดของเมล็ดมักมีสีเหลืองจัดและเมื่อแห้งจะแข็งมาก ภายในเมล็ดมีสารที่ทำให้ข้าวโพดมีสีเหลืองจัดเป็นสารให้สีที่ชื่อ คริปโตแซนทีน (Cruptoxanthin) สารนี้เมื่อสัตว์ได้รับร่างกายสัตว์จะเปลี่ยนสารนี้ให้เป็นไวตามินเอ นอกจากนี้สารนี้ยังช่วยให้ไข่แดงมีสีแดงเข้ม ช่วยให้ไก่มีผิวหนัง ปาก เนื้อ และแข้งมีสีเหลืองเข้มขึ้น เป็นที่นิยมของตลาดโดยเฉพาะแถบอเมริกาส่วนอังกฤษนั้นนิยมใช้ข้าวโพดขาว
2.          ข้าวโพดหวาน (Sweet Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดมักจะใสและเหี่ยวเมื่อแก่เต็มที่ เพราะมีน้ำตาลมาก ก่อนที่จะสุกจะมีรสหวานมากกว่าชนิดอื่น ๆ จึงเรียกข้าวโพดหวาน มีหลายสายพันธุ์
3.          ข้าวโพดคั่ว (Pop Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน ไม่มีการแปรรูป เมล็ดค่อนข้างแข็ง สีดีและขนาดแตกต่างกัน สำหรับต่างประเทศ ถ้าเมล็ดมีลักษณะแหลมเรียกว่า ข้าวโพดข้าว (Rice Corn) ถ้าเมล็ดกลม เรียกว่า ข้าวโพดไข่มุก (Pearl Corn)
4.          ข้าวโพดแป้ง (Flour Corn) เมล็ดมีสีหลายชนิด เช่น ขาว (ขุ่น ๆ หรือปนเหลืองนิด ๆ) หรือสีน้ำเงินคล้ำ หรือมีทั้งสีขาวและสีน้ำเงินคล้ำในฝักเดียวกัน เนื่องจากกลายพันธุ์ พวกที่มีเมล็ดสีคล้ำและพวกกลายพันธุ์เรียกว่าข้าวโพดอินเดียนแดง (Squaw Corn) หรือเรียกได้อีกชื่อว่าข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง (Native Corn) พวกข้าวโพดสีคล้ำนี้จะมีไนอาซีน สูงกว่าข้าวโพดที่มีแป้งสีขาว
5.          ข้าวโพดเทียน (Waxy Corn) เป็นข้าวโพดที่คนใช้รับประทาน จะมีแป้งที่มีลักษณะเฉพาะคือ นุ่มเหนียว เพราะในเนื้อแป้งจะประกอบด้วยแป้งพวกแอมมิโลเปคติน(Amylopectin) ส่วนข้าวโพดอื่น ๆ มีแป้งแอมมิโลส (Amylose) ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้แป้งค่อนข้างแข็ง
ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ที่นิยมปลูกในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์กัวเตมาลา พียี 12 (Rep.1) กัวเตมาลา พีบี 12 (Rep.2) พีบี 5 ข้าวโพดเหนียว และโอเปค-2 มีเมล็ดตั้งแต่สีขาว สีเหลืองไปจนถึงสีแดง ขนาดของเมล็ดขึ้นอยู่กับพันธุ์ โดยทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ในช่วง 0.5-0.8 ซม. ก่อนนำมาเลี้ยงสัตว์จึงต้องบดก่อนเพื่อช่วยให้การย่อยและการผสมได้ผลดีขึ้น ที่บดแล้วจะมีขนาดประมาณ 1-8 มม.

 

ประโยชน์ในด้านอื่นๆ

ข้าวโพดสามารถส่งเสริมการย่อยสลายพีเอเอชที่ปนเปื้อนในดิน เช่น ฟีแนนทรีน ไพรีนได้ โดยย่อยสลายได้ 90 % ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 100 mg/kg [1] และทนทานต่อดินที่ปนเปื้อนน้ำมันเครื่อง [2]จึงมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ฟื้นฟูดินที่ปนเปื้อนพีเอเอชและปิโตรเลียม

แหล่งปลูกข้าวโพด
ข้าวโพดสามารถปลูกได้อย่างกว้างขวางทั่วโลกตั้งแต่ละติจูดที่ ๕๘ องศา ในประเทศแคนนาดา ผ่านเขตโซนร้อนลงมาจนถึงเขตตอนใต้ประมาณละติจูดที่ ๓๕-๔๐ ข้าวโพดสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่ซึ่งมีระดับ เดียวกับน้ำทะเลไปจนถึงพื้นที่ระดับสูงกว่าน้ำทะเล ๓,๐๐๐-๓,๙๐๐ เมตร ในประเทศเปรูและเม็กซิโก แหล่งผลิตข้าวโพดสำคัญ ๆ เรียงตามปริมาณการผลิตมากไปหาน้อย คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียตรุสเซีย เม็กซิโก สหภาพแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินารูมาเนีย ยูโกสลาเวีย อินเดีย อิตาลี ฝรั่งเศษ และอินโดนิเซีย
สำหรับในประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่า ข้าวโพดสามารถปลูกได้ดีทุกภาค จังหวัดที่ผลิตข้าวโพดมากในแต่ละภาค เรียงตามปริมาณการผลิตมากไปหาน้อย ดังนี้
ภาคกลาง มี เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ สระบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย และปราจีนบุรี
ภาคเหนือ มี แพร่ น่าน เชียงราย และเชียงใหม่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น และชัยภูมิ
ภาคใต้ ปลูกมากที่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช

ประวัติและถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพด
พันธุ์ข้าวโพดที่ใช้ปลูกในปัจจุบันนี้ เป็นพืชที่ไม่สามารถขึ้นเองได้ถ้ามนุษย์ไม่ให้การปฏิบัติรักษาเท่าที่ควร ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับรากฐานดั้งเดิมว่า พืชนี้เปลี่ยนจากพืชป่ามาเป็นพืชเลี้ยงเมื่อใด แต่คงเป็นเวลานับพัน ๆ ปีมาแล้ว นักภูมิศาสตร์และนักโบราณคดีหลายท่านสันนิษฐานว่า มนุษย์รู้จักปลูกข้าวโพดกันมากกว่า ๔,๕๐๐ และในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพดนั้น ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด ถึงแม้ว่าได้มีนักค้นคว้าหลายท่านได้ทำการศึกษา และให้ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ มานาน แต่ก็ยังมีเหตุผลหลายประการที่ขัดแย้งกันอยู่บางท่านสันนิษฐานว่า ข้าวโพดอาจมีถิ่นฐานในแถวที่ราบสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศเปรู โบลิเวีย และ เอกวาตอร์ ในทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากมีผู้พบข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์มีความปรวนแปรในด้านกรรมพันธุ์และมีลักษณะต่าง ๆ ผิดแผกกันมาก นอกจากนี้ข้าวโพด บางชนิดที่มีลักษณะคล้ายข้าวโพดป่ายังพบขึ้นในแถบนั้นอีกด้วย แต่บางท่านก็ให้ข้อคิดว่า ในแถบอเมริกากลางและตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก น่าจะเป็นแหล่งกำเนิดข้าวโพดมากกว่า เพราะมีหญ้าพื้นเมืองขิงบริเวณนี้ ๒ ชนิด คือ หญ้าทริพซาคัม (Trip saxum) และหญ้าทิโอซินเท (Teosinte) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษาศาสตร์หลายประการคล้ายคลึงกับข้าวโพดมาก นอกจากนี้ ยังมีนักโบราณคดี ได้ขุดพบซากซังของข้าวโพดปนกันอยู่กับซากของโบราณวัตถุต่าง ๆ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินลึกถึง ๒๘ เมตร บริเวณเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกในบริเวณถ้ำและสุสานหลายแห่งจากการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่าซากสิ่งของเหล่านี้มีอายุนานกว่า ๔,๐๐๐ ปี ซึ่งแสดงว่ามีข้าวโพดปลูกอยู่ในแถบนี้เป็นเวลานานนับพันปีมาแล้ว นอกจากนี้บางท่านได้ให้ความเห็นอีกว่า ข้าวโพดบานิดอาจมีรากฐานอยู่ในเอเซียก็ได้ เพราะพืชพื้นเมืองหลายอย่างในแถบนี้จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายข้าวโพดมาก เช่น ลูกเดือยและอ้อน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานและเหตุผลของแต่ละท่าน ยังไม่มีประจักษ์พยานยืนยันแน่ชัดคงจะต้องถกเถียงและค้นคว้าหาความจริงกันต่อไปอีก
สำหรับพืชดั้งเดิมของข้าวโพดนั้น ได้มีนักพฤกษศาสตร์และนักพันธุศาสตร์ ตั้งสมมุติฐานขึ้นต่าง ๆ กัน เนื่องจากข้าวโพดมีส่วนใกล้เคียงกับหญ้าทริพซาคัม และทิโอซินเทมาก บางท่านจึงเชื่อว่า หญ้าพวกนี้เป็นบรรพบุรุษของข้าวโพด อย่างไรก็ตาม จากการทดลองผสมพันธุ์ระหว่างข้าวโพดกับหญ้าทริพซาคัม ปรากฏว่า ได้ลูกผสมออกมาเป็นหญ้าทิโอซินเท นอกจากนั้น ความแตกต่างทางพันธุกรรมของข้าวโพดกับหญ้าทั้งสองชนิดนี้ทำให้หลายท่านสรุปได้ว่าหญ้าทั้ง ๒ ชนิด นั้นไม่ได้เป็นพืชดั้งเดิมของข้าวโพด ข้าวโพดที่ปลูกอยู่ทุกวันนี้ คงจะวิวัฒนาการมาจากข้าวโพดพันธุ์ป่า (pod maize) อย่างแน่นอน ดังนั้น หญ้าทริพซาคัม และ ทิโอซินเท ก็ควรเป็นพืชดั้งเดิมเดียวกับข้าวโพด หากแต่ได้วิวัฒนาการมาคนละสาย จึงมีลักษณะแตกต่างกันในปัจจุบัน

ประวัติของข้าวโพดในประเทศไทย
ปัจจุบันนี้ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าบรรพบุรุษของไทยเรา รู้จักปลูกข้าวโพดกันมาตั้งแต่เมื่อใด ถึงแม้จะมีนักค้นคว้าบางท่านกล่าวว่า ชนชาติไทยอาจรู้จักปลูกข้าวโพดกันมาก่อนที่จะอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมทองเสียอีก บางท่านสันนิษฐานว่าได้รับข้าวโพดมาจากอินเดีย แต่ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดเอกสารเก่าแก่ที่พบเป็นจดหมายเหตุของลูแบร์ (Monsieur De La Loubere) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๓๐-๒๒๓๑ โดยได้เขียนไว้ว่า "คนไทยปลูกข้าวโพดแต่ในสวนเท่านั้น และต้มกินหรือเผากินทั้งฝักโดยมิได้ปอกเปลือกหรือกะเทาะเมล็ดเสียก่อน" เขายังได้อธิบายถึงข้าวโพดสาลี (kaou-possali) ว่า เป็นอาหารเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน จดหมายเหตุฉบับนี้ทำให้พอทราบว่าข้าวโพดมีปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว หากแต่ปลูกกันไม่มากนักคงจะปลูกกันอย่างพืชหายาก หรือพืชแปลกที่นำมาจากที่อื่น
ข้าวโพดในสมัยโบราณของไทย อาจเป็นพืชหลวงหรือพืชหายากดังกล่าวมาแล้ว ราษฎรสามัญอาจไม่ได้ปลูกกันมาก แต่เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของไทย และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย ฉะนั้น ในระยะต่อมาจึงได้ขยายพันธุ์ออกไปในหมู่ประชาชนอย่างแพร่หลายแต่ก็คงมีการปลูกกันไม่มากนัก เพราะไม่ใช้เป็นอาหารหลักเหมือนข้าวเจ้า ส่วนมากคงปลูกในสวนในที่ดอน หรือในที่ที่น้ำไม่ท่วม เพื่อรับประทานแทนข้าวบ้างในยามเกิดทุพภิกขภัยเมื่อทำนาไม่ได้ผล การปลูกข้าวโพดในสมัยก่อน ๆ นั้นจึงไม่สู้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเท่าใดนัก
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ นับว่าเป็นยุคต้น ๆ ของการกสิกรรมมัยใหม่ของประเทศไทยหรือที่เรียกกันว่า "การกสิกรรมบนดอน" โดยที่ได้มีนักเกษตรรุ่นแรกหลายท่านที่ได้ไปศึกษาการเกษตรแผนใหม่มาจากต่างประเทศ และได้เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกพืชไร่หรือพืชดอน เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์และเพื่อการทำไร่นาผสม อันเป็นการบุกเบิกแนวใหม่ของการกสิกรรมในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมเคยยึดมั่นอยู่แต่ข้าวเพียงอย่างเดียว ให้ขึ้นอยู่กับพืชอื่น ๆ อีกหลายชนิด ในบรรดาพืชไร่เหล่านี้ก็มีข้าวโพดรวมอยู่ด้วย แต่เดิมข้าวโพดที่มีปลูกกันในประเทศไทยขณะนั้น เป็นชนิดหัวแข็ง (flint corn) และมีสีเหลืองเข้มแต่เมล็ดมีขนาดเล็กมาก เป็นพันธุ์ที่นำมาจากอินโดจีนต่อมา ม.จ. สิทธิพร กฤดากร อดีตอธิบดีกรมเพาะปลูก (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) ซึ่งได้ลาออกไปทำฟาร์มส่วนตัวที่ตำบลบางเบิด อำเภอสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทดลองสั่งพันธุ์ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (dent corn) มาจากสหรัฐอเมริกา และทดลองปลูกเป็นครั้งแรกในประเทศไทยจำนวน ๒ พันธุ์ คือ พันธุ์นิโคลสันยลโลเดนต์ (nicholson's yellow dent) ซึ่งมีเมล็ดสีเหลือง และพันธุ์เม็กซิกันจูน (mexican june) ซึ่งมีเมล็ดสีขาว โดยได้ทดลองปลูกที่ฟาร์มบางเบิด เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อใช้เมล็ดเลี้ยงไก่ไข่ขายส่งตลาดกรุงเทพฯและเลี้ยงสุกรขายตลาดปีนัง นอกจากนี้ ท่านยังได้ส่งไปขายเป็นอาหารไก่ในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย และได้รายงานไว้ว่าข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์นี้ขึ้นได้ดีมาก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การควบคุมของพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้นำไปทดลองปลูกที่โรงเรียนก็ได้ผลดีมาก ครั้นเมื่อโรงเรียนย้ายมาอยู่ทับกวาง ได้นำข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์มาปลูกแบบการค้าเป็นการใหญ่ โดยใช้เครื่องมือทุ่นแรงต่าง ๆ ปรากฏว่า ได้ฝักใหญ่และงามดีมาก เพราะดินเป็นดินใหม่หลวงชุณห์กสิกรได้รายงานว่า ข้าวโพดพันธุ์เม็กวิกันจูน ซึ่งทดลองปลูกที่โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรทับกวางได้ผลเฉลี่ย ๒,๓๐๐ ฝัก/ไร่ หรือเมล็ดแก่ ๘๒๕ ปอนด์/ไร่ โดยพืชที่ปลูกระหว่างหลุมข้าวโพดมีถั่วฝักยาว ส่วนระหว่างแถวมีถั่วลิสงและพริกขี้หนู ดินที่ปลูกไม่ได้รับการบำรุงจากปุ๋ยอะไรเลย และขณะนั้น ขายได้ราคาปอนด์ละ ๑๐ สตางค์ ปรากฏว่าได้กำไรไร่ละ ๓๐ บาท ต่อมาโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมแห่งนี้ได้ทำการปลูกข้าวโพดทั้ง ๒ พันธุ์เป็นการค้าเรื่อยมาเป็นเวลาหลายปีและเมล็ดพันธุ์ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่กสิกรจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลพบุรี สระบุรี นครราชสีมา โดยกสิกรได้คัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และได้รู้จัดชกกันในนามของข้าวโพดฟันม้าบ้างหรือข้าวโพดพันธุ์ปากช่องบ้าง ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปตามแหล่งต่างๆ

ลักษณะทั่วๆไปและลักษณะทางพฤกษศาสตร์
·       ราก รากแรกที่ออกมาจากคัพภะ (embryo) เป็นรากชั่วคราวเรียกว่า ไพรมารี (primary) หรือ เซมินัล (seminal) หลังจากข้าวโพดเจริญเติบโตได้ประมาณ ๗-๑๐ วัน รากถาวรจะงอกขึ้นรอบ ๆ ข้อปลาย ๆ ในระดับใต้พื้นดินประมาณ ๑-๒ นิ้ว รากถาวรนี้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะแผ่ออกไปโดยรอบประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร และแทงลึกลงไปในดินแนวดิ่งยาวมากซึ่งอาจยาวถึง ๓๐๐ เซนติเมตร รากของข้าวโพดเป็นระบบรากฝอย (fibrous root system) นอกจากรากที่อยู่ใต้ดินแล้ว ยังมีรากยึดเหนี่ยว (bracer root) ซึ่งเกิดขึ้นรอบ ๆ ข้อที่อยู่ใกล้ผิวดิน และบางครั้งรากพวกนี้ยังช่วยหยั่งยึดพื้นดินอีกด้วย
·       ลำต้น ข้าวโพดมีลำต้นแข็ง ไส้แน่นไม่กลวง มีความยาวตั้งแต่ ๓๐ เซนติเมตร จนถึง ๘ เมตร แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ ตามลำต้นมีข้อ (node) และปล้อง (internode) ปล้องที่อยู่ในดินและใกล้ผิวดินสั้น และจะค่อย ๆ ยาวขึ้นไปทางด้านปลาย ปล้องเหนือพื้นดินจะมีจำนวนประมาณ ๘-๒๐ ปล้อง พันธุ์ข้าวโพดส่วนมากลำต้นสดมีสีเขียว แต่บางพันธุ์มีสีม่วง
ข้าวโพดแตกกอไม่มากนัก ส่วนมากไม่แตกกอทั้งนี้ แล้วแต่ชนิดพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ข้าวโพดที่แตกกอได้ ๓-๔ ต้น เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดที่ปลูกในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก ๆ อาจแตกกอได้ตั้งแต่ ๗-๑๐ ต้น
·       ใบ ข้าวโพดมีใบลักษณะยาวรี คล้ายพืชตระกูลหญ้าทั่วไป ประกอบด้วยตัวใบ กาบใบ และเขี้ยวใบ ลักษณะของใบรวมทั้งสีของใบแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ บางพันธุ์ใบสีเขียว บางพันธุ์ใบสีม่วงและบางพันธุ์ใบลายจำนวนใบก็เช่นเดียวกันอาจมีตั้งแต่ ๘-๔๘ ใบ
·       ดอก ข้าวโพดจัดเป็นพวกโมโนอิเซียส (monoecious) คือ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้ (tassel) อยู่ตอนบนสุดของลำต้น ดอกตัวผู้ดอกหนึ่งจะมีอับเกสร (anther) ๓ อับ แต่ละอับจะมีเรณูเกสร (pollen grain) ประมาณ ๒,๕๐๐ เม็ด ดังนั้นข้าวโพดต้นหนึ่ง จึงมีเรณูเกสรอยู่เป็นจำนวนหลายล้าน และสามารถปลิวไปได้ไกลกว่า ๒,๐๐๐ เมตร ส่วนดอกตัวเมียอยู่รวมกันเป็นช่อ เกิดขึ้นตอนข้อกลาง ๆ ลำต้น ต้นหนึ่งอาจมีหลายช่อแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ดอกตัวเมียแต่ละดอกประกอบด้วยรังไข่ (ovary) และเส้นไหม (silk หรือ style) ซึ่งมีความยาวประมาณ ๕-๑๕ เซนติเมตร และยื่นปลายโผล่ออกไปรวมกันเป็นกระจุกอยู่ตรงปลายช่อดอกซึ่งมีเปลือกหุ้มอยู่ ดอกพวกนี้พร้อมที่จะผสมพันธุ์ หรือรับละอองเกสรได้เมื่อเส้นไหมโผล่ออกมา หลังจากได้รับการผสมเส้นไหมจะแห้งเหี่ยวและรังไข่เจริญเติบโตเป็นเมล็ด ช่อดอกตัวเมียที่รับการผสมแล้วเรียกว่า ฝัก (ear) แต่ละฝักอาจมีเมล็ดมากถึง ๑,๐๐๐ เมล็ด แกนกลางของฝักเรียกว่า ซัง (cob)


การเก็บเกี่ยว
          โดยปกติข้าวโพดหวานจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 70-75 วันหลังปลูก
 แต่ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวที่สุด คือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพดออกไหม 50%  
(ข้าวโพด 100 ต้นมีไหม 50 ต้น) ข้าวโพดหวานพันธุ์ ไฮ-บริกซ์ 10 จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 68-70 วัน
 และพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 65-68 วันหลังปลูก แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็นอายุ
การเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบส่งโรงงานหรือจำหน่ายโดยเร็ว
เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำหากขาดน้ำจะมีผลต่อเมล็ดและน้ำหนักของฝัก

        ปัญหาและการแก้ไข  ที่พบเห็นบ่อย ๆ  มีดังนี้
        1.ความงอก   ปกติเมล็ดพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 และ ไฮ-บริกซ์ 3 ได้ผ่านการทดสอบ
ความงอกมาแล้วจึงจำหน่ายสู่เกษตรกร แต่บางครั้งเมล็ดพันธุ์อาจจะค้างอยู่ในร้านค้าเป็นเวลานานหรือ
เกษตรกรอาจจะซื้อเมล็ดพันธุ์มาเก็บไว้ที่บ้านและสถานที่เก็บอาจจะไม่เหมาะสม  สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกลดลง วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุด คือก่อนปลูกทุกครั้งให้ทดสอบความงอกของเมล็ดที่จะปลูกก่อน
โดยการสุ่มเมล็ดจากถุงประมาณ 100 เมล็ด แล้วปลูกลงในกระบะทรายหรือดินแล้วรดน้ำเพื่อทดสอบ
ความงอกนับต้นที่โผล่พ้นดินในวันที่ 7 ถ้ามีจำนวนต้นเกิน 85 ต้นถือว่ามีอัตราความงอกที่ใช้ได้ก็สามารถ
นำเมล็ดพันธุ์ถุงนั้นไปปลูกได้

       2.โรคราน้ำค้าง ปัจจุบันพันธุ์ข้าวโพดหวานเกือบทุกพันธุ์ที่ขายในประเทศไทยเป็นพันธุ์
ที่ไม่ต้านทานโรคราน้ำค้าง  ตั้งแต่พันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 และ  ไฮ-บริกซ์ 3 จนถึงพันธ์ล่าสุดไฮ-บริกซ์ 9
ซึ่งทุกพันธุ์ได้ผ่านการคลุกยาป้องกันโรคราน้ำค้าง(เมตาแลกซิล) ในอัตรายาที่เหมาะสม  เมื่อปลูกแล้วจะไม่พบว่าเป็นโรคแต่การปลูกที่ผิดวิธีก็อาจเป็นสาเหตุให้เป็นโรคราน้ำค้างได้ การปลูกที่ผิดวิธีที่พบเห็นบ่อยๆ มีดังนี้

       2.1 แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูก เกษตรกรเชื่อว่าการแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกจะทำให้การงอกดี
และมีความสม่ำเสมอ แต่การแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกจะทำให้ยาที่คลุกติดมากับเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นยาป้องกันโรคราน้ำค้างละลายหลุดออกไป ทำให้ยาที่เคลือบเมล็ดมีน้อยลงหรือไม่มีเลย เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำไปปลูก
ต้นอ่อนที่งอกออกมาจึงเป็นโรค ราน้ำค้าง วิธีแก้ไข คือ ไม่แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกหรือคลุกสารเคมีอื่นเพิ่ม
เพราะมีผลต่อความต้านทานโรคราน้ำค้างและความงอกของเมล็ดพันธุ์

       2.2 ปล่อยน้ำท่วมขังแปลงหลังปลูก เกษตรกรบางรายเมื่อปลูกเสร็จจะปล่อยน้ำท่วมแปลงปลูก
หรือปล่อยน้ำท่วมร่องปลูก ซึ่งน้ำจะท่วมขังอยู่เป็นเวลานานกว่าจะซึมลงดินหมด เมล็ดจะแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานยาป้องกันโรคราน้ำค้างที่เคลือบเมล็ดอยู่จะละลายหายไปกับน้ำ ทำให้ต้นอ่อนที่งอกขึ้นมาไม่ได้รับยาป้องกันโรค ราน้ำค้างจึงแสดงอาการเป็นโรคให้เห็น วิธีแก้ไข คือ ให้น้ำในแปลงก่อนการปลูกและรอให้ดินมีความชื้นเหมาะกับการงอกของเมล็ดจึงทำการปลูก ยาที่เคลือบเมล็ดจะไม่ละลายหลุดไปกับน้ำต้นอ่อนที่งอกออกมาจึงได้รับยาอย่างเต็มที่และไม่เป็นโรคราน้ำค้าง

      2.3 การระบาดของหนู พื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดหวานติดต่อกันหลายรุ่นมักจะพบว่ามีหนูระบาด
และมักจะเข้าทำลายข้าวโพดหวานในระยะงอกและระยะก่อนเก็บเกี่ยว เมื่อมีหนูระบาดจะทำให้ผลผลิตลดลง
ฝักที่เก็บได้มีร่องรอยการทำลายของหนูทำให้ขายไม่ได้ แก้ไขโดยการวางยาเบื่อหนู ซึ่งทำได้โดยใช้ข้าวโพด
หวานฝักสดฝานเอาแต่เนื้อผสมกับยาเบื่อหนูที่เป็นผงสีดำ (Zinc phosphide) คลุกเคล้าให้ทั่วแล้วหว่าน
ให้ทั่วในแปลงหลังจากปลูกเสร็จ   (อาจจะหว่านในช่วงหลังปลูก คือ ข้าวโพดกำลังงอก) และในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว (ช่วงข้าวโพดกำลังเป็นน้ำนม ประมาณ 65-70 วันหลังปลูก) หว่านติดต่อกันสัก 3 ครั้ง
แต่ละครั้งห่างกัน 2-3 วัน จะทำให้การระบาดของหนู   ลดลง

     2.4 หนอนเจาะฝักข้าวโพด บางฤดูจะพบว่ามีการระบาดของหนอนเจาะฝักเกิดขึ้นซึ่งจะทำให้
ฝักที่เก็บเกี่ยวได้มีตำหนิขายไม่ได้ราคา ผลผลิตต่อไร่ลดลง สามารถป้องกันการระบาดได้โดยการหมั่นตรวจ
แปลงอยู่เสมอโดยเฉพาะในระยะเริ่มผสมเกสร ถ้าพบว่าเริ่มมีหนอนเจาะฝักให้ใช้ยา ฟลูเฟนนอกซูรอน
หรือ ฟิโบรนิล (ชื่อสามัญ)ในอัตรา 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ฝัก 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน

     2.5 มวนเขียว หลังจากข้าวโพดผสมเกสรแล้ว บางครั้งจะมีมวนเขียวระบาดโดยเฉพาะช่วงฝนทิ้งช่วงหรือ
ในหน้าแล้งมวนเขียวจะใช้ปากเจาะฝักข้าวโพดและดูดกินน้ำเลี้ยงจากเมล็ดที่ยังอ่อนอยู่ชึ่งจะไม่เห็นร่องรอย
การทำลายจากภายนอกเมื่อเก็บเกี่ยวจะพบว่าเมล็ดมีรอยช้ำหรือรอยดำด่างทำให้ขายไม่ได้ราคา ป้องกันได้
โดยการหมั่นเดินตรวจแปลงในระยะหลังจากผสมเกสรแล้วถ้าพบมวนเขียวให้ฉีดพ่นด้วยยา คาร์โบซัลแฟน
(ชื่อสามัญ) อัตรา 40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ฝักข้าวโพด

     2.6 เพลี้ยไฟ ถ้าข้าวโพดหวานออกดอกในช่วงฝนทิ้งช่วงหรือในหน้าแล้ง มักจะพบว่ามีเพลี้ยไฟ
(แมลงตัวเล็กๆ สีดำ) เกาะกินน้ำเลี้ยงที่ไหมของฝักข้าวโพดทำให้ไหมฝ่อ การผสมเกสรไม่สมบูรณ์
 การติดเมล็ดจะไม่ดีตามไปด้วย ป้องกันได้โดยหมั่นตรวจแปลงในระยะออกดอก ถ้าพบว่ามีเพลี้ยไฟเกาะที่ไหม
ให้ใช้ยาเอ็นโดซันแฟน(ชื่อสามัญ) หรือ วีฟอส (ชื่อการค้า) อัตรา 40 ซี.ซี.  ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ฝัก

    2.7 ข้าวโพดไม่หวาน ถ้าพบว่าข้าวโพดหวานฝักสดมีรสชาติไม่หวานแสดงว่าดินในแปลงที่ปลูกข้าวโพด
ขาดธาตุโปแตสเซี่ยม (K) ธาตุโปแตสเซี่ยมจะช่วยให้การสะสมน้ำตาลในเมล็ดดีขึ้นแก้ไขได้โดยการใส่ปุ๋ย
รองพื้นที่มีธาตุโปแตสเซี่ยมร่วมด้วย เช่น ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 16-16-8 หรือ 13-13-21 ขึ้นกับ
สภาพดิดถ้าดินขาดโปแตสเซี่ยมมากก็ควรใส่ปุ๋ยสูตรที่มีค่า K สูง

    2.8 เปลือกหุ้มฝักเหลือง การเก็บเกี่ยวที่อายุเกิน 20 วันหลังออกไหม 50% จะมีผลทำให้เปลือกหุ้มฝัก
มีสีเขียวอ่อนลงดูเหมือนฝักจะแก่  บางครั้งถึงแม้ว่าจะเก็บเกี่ยวที่อายุเหมาะสม เปลือกหุ้มฝักก็ยังมีสีออกเหลือง
การแก้ไขทำได้โดยการเพิ่มปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างต้นข้าวโพดในขณะดิน
มีความชื้นในระยะที่ข้าวโพดออกดอก จะทำให้เปลือกหุ้มฝักมีสีเขียวอยู่ได้นานขึ้น

    2.9 โรคราสนิม ถ้ามีโรคราสนิมระบาดรุนแรงจะทำให้ฝักข้าวโพดไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่เต็มถึงปลายขายไม่ได้ราคา ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคราสนิมอยู่เป็นประจำควรฉีดพ่นด้วยยาไดฟีโนโคนาโซล (ชื่อสามัญ) หรือ สกอร์ (ชื่อการค้า อัตรา 20 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อเริ่มเป็นโรค


การใช้ประโยชน์(จากข้าวโพด)

เมล็ดข้าวโพด และส่วนต่างๆ ของข้าวโพดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง อาจแบ่งการใช้ออกเป็น ๓ ประเภท คือ 


ใช้เป็นอาหารมนุษย์ 

ในประเทศไทย ประชาชนนิยมรับประทานฝักสดของข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว และข้าวโพดไร่โดยการต้ม หรือเผาให้สุกเสียก่อน นอกจากนั้น ฝักอ่อนของข้าวโพดยังนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย นับเป็นผักชนิดหนึ่งที่นำมาปรุงอาหาร นอกจากจะรับประทานในประเทศแล้ว ยังบรรจุกระป๋องส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเป็นอุตสาหกรรมชนิดหนึ่งด้วย
 

ประชาชนในบางประเทศ อาศัยบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลักในรูปต่างๆ กัน เช่น ในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ใช้แป้งบดจากเมล็ดแก่มาทำเป็นแผ่นนึ่ง หรือย่างให้สุก รับประทานกับอาหารอื่นคล้ายกับการรับประทานขนมปัง ในฟิลิปปินส์นิยมตำเมล็ดข้าวโพดแก่ให้แตกเป็นชิ้นเล็กเท่าๆ เมล็ดข้าว แล้วต้มรับประทานแทนข้าว 
ประชาชนในบางประเทศ อาศัยบริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลักในรูปต่างๆ กัน เช่น ในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ใช้แป้งบดจากเมล็ดแก่มาทำเป็นแผ่นนึ่ง หรือย่างให้สุก รับประทานกับอาหารอื่นคล้ายกับการรับประทานขนมปัง ในฟิลิปปินส์นิยมตำเมล็ดข้าวโพดแก่ให้แตกเป็นชิ้นเล็กเท่าๆ เมล็ดข้าว แล้วต้มรับประทานแทนข้าว 

 ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม
 

เมล็ด และผลิตผลจากเมล็ดข้าวโพด สามารถนำไปใช้ในการอุตสาหกรรมได้หลายประเภท เช่น ทำแอลกอฮอล์ แป้ง น้ำตาลชนิดต่างๆ น้ำเชื่อม และน้ำมัน ผลิตผลเหล่านี้ อาจนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกต่อหนึ่ง เช่น ยารักษาโรค กระดาษ กระดาษแก้ว ผ้าสังเคราะห์ กรด น้ำหอม น้ำมันใส่ผม และแบตเตอรี่ นอกจากเมล็ดแล้ว พวกฝัก ใบ และลำต้น อาจนำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น กระดาษ ปุ๋ย และฉนวนไฟฟ้า 

ใช้เป็นอาหารสัตว์
 

ข้าวโพดนับเป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดีชนิดหนึ่ง การใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจทำได้หลายอย่าง เช่น ใช้เมล็ด กากน้ำตาล กากแป้งที่เหลือจากสกัดน้ำมัน ตัดต้นสดให้สัตว์กินโดยตรง ตัดต้นสดหมัก และใช้ต้นแก่หลังเก็บเกี่ยวฝักแล้ว ในต่างประเทศนิยมใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมาก แต่ในประเทศไทยยังใช้กันน้อย ทั้งนี้เนื่องจากราคายังสูงอยู่ ถ้าสามารถลดต้นทุนการผลิตลง และราคาข้าวโพดอยู่ในระดับพอสมควร อาจมีการใช้เลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น



ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด

แป้งข้าวโพด ได้จากเมล็ดข้าวโพดที่แก่และแห้งแล้ว ผลิตภัณฑ์อาหารจากแป้งข้าวโพดมีอยู่ในรูปแบบต่างๆ เช่นขนมปังข้าวโพด หรือนำไปทำขนม ใช้เป็นแป้งข้าวโพดซุปผักหรือเนื้อทอด หรือจะใช้เป็นน้ำซุปข้นราดบนอาหารหลายชนิด 

น้ำมันข้าวโพด เป็นน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดข้าวโพด ที่แก่ และแห้งแล้วประกอบ ด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีกรดไขมันที่จำเป็นอยู่มาก น้ำมันข้าวโพดจัดเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี และมีประโยชน์


 น้ำเชื่อมข้าวโพด เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยสลายแป้งข้าวโพดใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ประเภทน้ำอัดลม และขนมหวานต่างๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...